RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง การระบาดของเชื้อนี้มักพบในฤดูฝนและฤดูหนาวในประเทศไทย

หากติดไวรัส RSV จะมีอาการเป็นอย่างไร?

เมื่อติดเชื้อ RSV จะมีอาการเหมือนไข้หวัดธรรมดาคือ ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล โดยลักษณะของไข้จะมีไข้สูงหรือไข้ต่ำๆก็ได้ แต่หากการดำเนินโรครุนแรงมากขึ้นเป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างจะมีอาการของภาวะหลอดลมอักเสบ ปอดบวมหรือปอดอักเสบ และทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้ อาการที่ต้องสังเกตของ RSV ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV และมีอาการไอมาก เสมหะมาก หายใจมีเสียงวี๊ดหรือมีเสียงครืดคราด มีอาการหอบเหนื่อยหายใจเร็วอกบุ๋ม ควรรีบมาพบแพทย์

ใครบ้างที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบติดเชื้อไวรัส RSV?

กลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเกิดปอดอักเสบติดเชื้อตามมาได้โดยง่าย ได้แก่ ทารกคลอดก่อนกำหนดโดยเฉพาะที่อายุครรภ์น้อยกว่า 29 สัปดาห์ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคปอด เป็นต้น มีโอกาสที่โรคจะทรุดตัวได้อย่างรวดเร็วจนถึงขั้นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจได้ เพราะฉะนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรระมัดระวังป้องกันการติดเชื้อและดูแลอย่างใกล้ชิด

ไวรัส RSV ติดต่อทางใดได้บ้าง?

ไวรัส RSV ติดต่อโดยตรงกับการสัมผัสสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เช่น หากที่มือเรามีเชื้อ RSV จากสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แล้วเรานำมือไปขยี้ตา หรือเข้าจมูกก็สามารถติดเชื้อนี้ได้โดยง่าย เชื้อ RSV สามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมงและอยู่บนมือได้นานกว่าครึ่งชั่วโมงหากไม่ได้ล้างทำความสะอาด เมื่อได้รับเชื้อมาแล้วระยะฝักตัวของโรคอยู่ที่ประมาณ 4-6 วันหลังจากได้รับเชื้อ

มีวัคซีนหรือยารักษาหรือไม่?

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อ RSV อีกทั้งยังไม่มียารักษาเชื้อไวรัส RSV โดยตรงอีกด้วย การรักษาเป็นเพียงการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ การดูดเสมหะ การให้ยาขยายหลอดลมในรายที่มีภาวะหลอดลมตีบ ให้ออกซิเจน การให้สารน้ำทดแทนให้เพียงพอ ระยะเวลาในการรักษาของแต่ละคนขึ้นกับความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 1-2 สัปดาห์

เราจะป้องกันการติดเชื้อจากไวรัส RSV ได้อย่างไร?

เนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อที่ถึงแม้เคยเป็นแล้วสามารถเป็นซ้ำได้อีกและยังไม่มีวัคซีนใช้ในปัจจุบัน สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือป้องกันนั่นเอง ได้แก่ ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลอยู่เสมอทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำ รักษาความสะอาดทำความสะอาดของเล่นเด็กบ่อยๆ หากมีคนในบ้านป่วยควรแยกและงดใช้ของส่วนตัวร่วมกัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง สำหรับเด็กที่เข้าเนิร์สเซอร์รี่หรือเข้าโรงเรียนแล้วเมื่อมีการป่วยควรหยุดเรียนทันทีจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคอีกทางนึง

ที่มา : บทความโดย พญ.ชนิตา พิชญ์ภพ กุมารแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคติดเชื้อ
www.medparkhospital.com

สนใจแบบประกัน

    ติดต่อตัวแทน | ซื้อประกัน | สมัครตัวแทน
    facebook line officail