ปัจจุบันด้วยสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันล้วนส่งผลให้คนทุกวัยเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้มากขึ้น โดยข้อมูลล่าสุดจากกรมการแพทย์ได้เปิดเผยสถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่มีจำนวนมากถึง 140,000 คน/ปี หรือ 400 คน/วัน ซึ่งจากจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน การเลือกวิธีรักษาก็เป็นเรื่องสำคัญ
โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีวิธีรักษาโรคมะเร็งอยู่หลายวิธี แต่วิธีการรักษาที่ได้รับความนิยมได้แก่ Chemotherapy (ยาเคมีบำบัด), Targeted Therapy (การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง) และ Immunotherapy (ยาภูมิคุ้มกันบำบัด) ซึ่งแต่ละวิธีมีความน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งมาก วันนี้เมืองไทยประกันชีวิตจะพาไปดูว่าการรักษามะเร็งแต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร และค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ ตามมาเลย!
Chemotherapy (ยาเคมีบำบัด)
Chemotherapy (ยาเคมีบำบัด) หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ “คีโม” เป็นการรักษาด้วยกลุ่มสารเคมีที่มีฤทธิ์ยับยั้งและทำลายเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตหรือแบ่งตัวอย่างรวดเร็วผิดปกติ โดยยาเคมีบำบัดนี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งหลายรูปแบบ ทำให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปได้และตายในที่สุด แต่การรักษาด้วยวิธีนี้อาจเสี่ยงต่อการทำลายเซลล์ปกติของเราด้วยเช่นกัน เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว เซลล์เส้นผม เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร เป็นต้น
สำหรับการรักษาแบบ Chemotherapy ไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ทุกชนิด แต่จะมีโรคมะเร็งบางชนิดที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว เช่น
- มะเร็งเม็ดเลือด
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- มะเร็งลูกอัณฑะ
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย
- อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- ผมร่วง
- การติดเชื้อ
- การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
- ภาวะซีด
ที่มา : โรงพยาบาลพญาไท, thethaicancer
Targeted Therapy (การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง)
Targeted Therapy เป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งแบบออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยมีวิธีการรักษาคือ ให้ยาหรือสารไปยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณระดับเซลล์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ทำให้เป็นการรักษาที่แม่นยำ ตรงจุด มีผลข้างเคียงน้อย ปัจจุบันผู้ป่วยโรคมะเร็งเริ่มรู้จักและหันมาเลือกวิธีการรักษาแบบ Targeted Therapy มากขึ้น
การรักษาแบบ Targeted Therapy จะสามารถใช้ในการรักษาโรคมะเร็งได้บางชนิด เช่น
- มะเร็งปอด
- มะเร็งตับ
- มะเร็งไต
- มะเร็งลำไส้ใหญ่
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งรังไข่
- มะเร็งศีรษะและลำคอ
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ที่มา : Mahidol, Chulacancer, Muang Thai Life
Immunotherapy (ยาภูมิคุ้มกันบำบัด)
สำหรับวิธีการรักษาแบบ Immunotherapy เป็นการรักษาโรคมะเร็งโดยการใช้ยาหรือวิธีการกระตุ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ภูมิคุ้มกันสามารถมองเห็นเซลล์มะเร็งว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ในร่างกายและสามารถควบคุม กำจัดหรือทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- มะเร็งผิวหนังเมลาโนมาระยะลุกลาม
- มะเร็งปอดบางชนิด
- มะเร็งไตที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น
- มะเร็งศีรษะและลำคอที่ดื้อต่อเคมีบำบัด
- มะเร็งในกระเพาะปัสสาวะที่ดื้อต่อเคมีบำบัด
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย
- มีไข้
- ท้องเสีย
- คลื่นไส้
- มีแผลในช่องปาก
การรักษาโรคมะเร็งแบบ Immunotherapy มีความจำเพาะเจาะจงสูง ผู้ป่วยควรต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและตรวจร่างกายอย่างละเอียดก่อนเข้ารับการรักษา
ที่มา : โรงพยาบาลนครธน, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
เปิดบิลค่ารักษามะเร็ง แต่ละวิธีแพงแค่ไหน
เมื่อทราบถึงวิธีการรักษามะเร็งในแต่ละรูปแบบกันแล้ว เราตามมาดูกันต่อว่าค่าใช้จ่ายที่เราต้องต่อสู้นอกเหนือจากมะเร็งร้าย จะมีค่ารักษาที่ต้องจ่ายในแต่ละวิธีอยู่ที่ประมาณเท่าไร ซึ่งบอกได้เลยว่าหากไม่มีประกัน ค่าใช้จ่ายที่ต้องเจอเรียกว่าช็อกกันเลยล่ะ
- Chemotherapy (ยาเคมีบําบัด) : ค่ารักษาประมาณ 92,000-144,400 บาท
- Targeted Therapy (การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง) : ค่ารักษาประมาณ 2.7 – 4.6 ล้านบาท
- Immunotherapy (ยาภูมิคุ้มกันบำบัด) : ค่ารักษาประมาณ 3 – 15 ล้านบาท
หมายเหตุ : ราคารักษาโดยประมาณ และอาจมีการเปลี่ยนแปลง
ที่มา : ลงทุนแมน, thecoverage